เร็ว ช้า หนัก เบา
คำสอนจากนายห้าง ดร.เทียม โชควัฒนา
ปรัชญาชีวิตข้อนี้ต้องจดจำขึ้นใจ แล้วใช้เป็นหลักในการทำงาน
เป็นแนวทางของการปฏิบัติตนมิให้ผิดพลาดหรือล้มเหลว
เป็นการรู้จักการพิจารณาการทำงานแต่ละชิ้น แต่ละอัน
แล้วลงมือปฏิบัติได้ด้วยความพยายามอันถูกต้อง เหมาะสม
สอดคล้องกับจังหวะชีวิตที่ควรจะเป็น
งานบางอย่างเป็นงานที่รีรอชักช้าไม่ได้ ต้องรีบทำ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า "น้ำขึ้นให้รีบตัก"
งานบางอย่างต้องตัดสินใจเร็ว แก้ไขเร็ว ทำให้จบเร็ว
ไม่เช่นนั้นปัญหาที่มีอยู่อาจจะลุกลามไปใหญ่โตกว้างขวาง
หรือโอกาสที่มีอยู่อาจสูญเสียไปก็ได้
งานบางอย่างเป็นงานที่ผลีผลามไม่ได้ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ค่อยเป็นค่อยไป
เหมือนสินค้าบางอย่างที่ทำ จะให้โตเร็วพรวดพราดไม่ได้
อาจจะต้องค่อยๆ ทำ อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะได้ไม่ผิดพลาด
งานที่ต้องใช้เวลายาวนานแก้ไขใจร้อนไม่ได้ ก็ไม่ควรจะรีบร้อน
เพราะถ้าใช้เวลาน้อยเกินไป เร่งรีบเกินไป จะมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นได้
งานบางอย่าง ถ้าจะทำแล้วต้องโหมหนักเอาจริงเอาจัง
เหมือนการออกสินค้าบางตัว ในสภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูง
เราอาจมีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้อย่างรุนแรง อันนี้ก็คือ สิ่งที่ต้องทำอย่างหนักหน่วง
" หมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า งานไหนทำก่อน งานไหนทีหลัง งานไหนต้องจริงจัง และงานไหนที่พอควร "
งานบางอย่างนั้นจะโหมเลยทันทีไม่ได้ ต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ลอง
บางเวลาสิ่งที่เคยทำหนักยังอาจต้องผ่อนลงมาบ้าง
เพราะถ้าทุ่มเทเกินไป ก็มิใช่ว่า จะได้ประโยชน์มากขึ้น เสียเวลากับงานนั้นมากเกินไป
ทั้งๆ ที่ประโยชน์ที่พึงได้ก็ไม่คุ้ม งานอย่างนี้ก็ต้องทุ่มเทแต่พอควร
หลังปรัชญาข้างต้นนั้น จะทำให้เราหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า งานชิ้นไหนต้องทำก่อน(เร็ว)
งานชิ้นไหนต้องทำทีหลัง (ช้า)
งานชิ้นไหนที่ต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง (หนัก)
และงานชิ้นไหนที่ทุ่มเทแต่พอควร (เบา)
เพื่อให้เรากะจังหวะเวลาและกำหนดความเข้มข้นของความพยายาม
ที่เหมาะสมกับงานแต่ละชิ้นที่เราจะต้องทำ
No comments:
Post a Comment